รู้ให้ทัน 'โรคฝีดาษลิง' พร้อมวิธีป้องกันการติดเชื้อ

Read More

เชื่อว่าในช่วงสองปีที่ทุกคนได้รู้จักโรคโควิด-19 หลายคนก็เริ่มตระหนักถึงความรุนแรงของโรคติดต่อกันไม่มากก็น้อย ทว่าโรคเก่ายังไม่ผ่านไป แต่โรคติดต่อใหม่กำลังจะเข้ามาอีกแล้ว ช่างเข้ากับคำพูดที่ว่า ‘สู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับ’ เลยใช่ไหมครับ แต่อย่าพึ่งวิตกกังวลไป เพราะโรคฝีดาษลิงยังเดินทางมาไม่ถึงประเทศไทย แล้วโรคฝีดาษลิงนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร จะป้องกันได้ไหม วันนี้เรามาหาคำตอบกันครับ

โรคฝีดาษลิงคืออะไร ?

โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่มีเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งโดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสดังกล่าว มีรังโรคอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ สามารถติดต่อไปยังสัตว์อื่น ในตระกูลลิงไม่มีหาง กระต่าย และสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น โรคฝีดาษลิง ยังสามารถติดต่อไปยังมนุษย์ได้อีกด้วย และถึงแม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย แต่อาจอันตรายถึงชีวิต

อาการของโรคฝีดาษลิง

หลังการได้รับเชื้อ ไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลืองและใช้เวลาฟักตัว 7-21 วัน จึงแสดงอาการ  โดยอาการจะเริ่มจากการมีไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต 1-2 วัน จึงมีผื่น 

ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีไข้ โดยผื่นจะเริ่มจากมีแผลในปาก จากนั้นจะเริ่มมีผื่น ขึ้นที่ตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร

ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา ผื่นจะค่อยๆ เปลี่ยนจากผื่นนูนแดง เป็นตุ่มน้ำ แล้วจึงเป็นฝี โดยผื่นจะเปลี่ยนรูปแบบพร้อมกันทั่วทั้งตัว หลังตุ่มหนองแตกจนแห้งดี ผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่น

โรคฝีดาษลิงติดต่อได้อย่างไร

จากสัตว์สู่มนุษย์

  • การสัมผัส สารคัดหลั่ง เลือด และผิวหนัง ของสัตว์ที่ป่วย
  • การนำซากสัตว์ที่ป่วยมาประกอบอาหาร
  • ถูกสัตว์ที่ป่วยข่วน กัด หรือมีการสัมผัสเครื่องใช้ที่มีเชื้อจากสัตว์นั้น

จากมนุษย์สู่มนุษย์

  • ละอองฝอยทางการหายใจ
  • สัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และรอยโรคที่ผิวหนังของผู้ป่วย
  • สัมผัสของใช้ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของ ผู้ป่วยโรคมีระยะฟักตัวประมาณ 7 – 14 วัน หรืออาจนานได้ถึง 24 วัน ทั้งนี้ โอกาสในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนค่อนข้างต่ำ

การวินิจฉัย และการรักษาโรคฝีดาษลิง

ตรวจโดยการ PCR ของเหลวจากตุ่มผิวหนัง หากพบเชื้อ สามารถรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส Cidofovir, Tecovirimat, Brincidofovir ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่ก็พบว่ามีรายงานเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงได้ โดยกลุ่มเด็กเล็กคือกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด

การป้องกันโรคฝีดาษลิง

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
  • เลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ
  • งดรับประทานของป่าหรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า
  • รับวัคซีน JYNNEOS ซึ่งได้รับอนุญาตในสหรัฐอเมริกา
  • เลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือสัตว์ป่าป่วย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคฝีดาษลิงยังไม่พบผู้ที่ติดเชื้อในไทย แต่จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ทำให้โรคนี้ควรเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการระบาดในปี พ.ศ.2565 ครั้งนี้พบผู้ป่วยฝีดาษลิงระบาดจากคนไปยังคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ ประเทศ จึงควรดูแลและป้องกันตัวเองไว้ก่อนติดเชื้อดีกว่าครับ

ส่วนครั้งหน้า SKY ICT จะมีเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอะไรมาอัปเดตกันอีกต้องติดตามครับฟ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพริ้นซ์ 

ติดต่อเรา

เราจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น

ข้อความสำหรับขอความยินยอมในหน้าเว็บไซต์ https://www.skyict.co.th หากท่านยินยอมให้ทางบริษัทประมวลผลข้อมูลในกรณีใดๆ กรุณาทำเครื่องหมาย / ในช่อง ด้านหน้า