ผลวิจัยชี้! ประเทศไทยสนใจ “xEV” สูงสุดในอาเซียน
เผยผลวิจัยล่าสุดของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน (Frost & Sullivan) องค์กรที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และงานวิจัยทางธุรกิจชื่อดังระดับโลก เผยแพร่ผลศึกษาผู้บริโภคชาวไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนามเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2563 ต่อจากครั้งแรกปี 2561 มีกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คนและครอบคลุมทุกพลังงานไฟฟ้า
เปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีความต้องการ มีความสนใจและตื่นตัวต่อระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึง 3 เทรนด์หลักที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเข้าใจที่ดีขึ้นในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี e-POWER ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต
คนไทย 43% สนใจเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าใน 3 ปี
สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจพบว่า 43% ของผู้ใช้รถยนต์ที่ไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าจะเลือกพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอนหากจะต้องซื้อรถยนต์คันต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ผลสำรวจยังระบุอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความกระตือรือร้นในการพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ผลการวิจัยที่น่าสนใจที่สุดคือประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่เข้าใจเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงวิธีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น 53% และเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนร่วมตอบแบบสำรวจจะเลือกพิจารณาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 33%
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ
จากการสำรวจพบว่า ปัจจัย 3 อันดับสำคัญในประเทศไทยที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคือ การใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอย่างมาก ซึ่งกระแสสร้างโลกสีเขียวนี้ทำให้ 90 % ของผู้ใช้รถตระหนักว่า ‘รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคอาเซียนที่อยู่ที่ 88% ในขณะที่ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจคนไทยมากถึงร้อยละ 91 กล่าวว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลต่อการพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของผู้ใช้รถในประเทศไทยกล่าวว่า แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะช่วยส่งเสริมให้มีการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ใหม่ ปัจจัยรองลงมาคือ ค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟที่ต่ำกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพและปัจจัยสุดท้ายคือ ความปลอดภัยในการขับขี่ที่มากกว่า
สถานีชาร์จ อุปสรรคใหญ่ต่อการใช้งาน
พบว่าผู้ใช้รถคนไทยเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคต่อการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยความกังวลเรื่องพลังไฟฟ้าจะหมดระหว่างทางก่อนไปถึงสถานีชาร์จลดเหลือ 53% จากปี 2561 อยู่ที่ 58% ส่วนปัญหาความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยต่อเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าก็ลดลงเหลือ 40% จากปี 61 อยู่ที่ 48% แต่อย่างไรก็ตาม จากกลุ่มสำรวจพบว่า ผู้ใช้รถในไทยเห็นว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นปัจจัยหลักสำคัญเพียงเรื่องเดียว ที่ยังคงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 นั่นก็คือ “ความกังวลต่อระบบแท่นชาร์จไฟฟ้าสาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัด” ในขณะเดียวกันข้อกังวลนี้กลับลดลงในทุกประเทศที่มีการสำรวจ โดยเฉลี่ย 9 % และนอกจากนี้ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นถึง เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งก็คือเครื่องยนต์แบบ อี-พาวเวอร์ (e-POWER) ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยไม่ต้องชาร์จไฟฟ้า
และสำหรับประเทศไทย แรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มาเป็นอันดับ 1 คือ สถานีแท่นชาร์จในเขตบริเวณที่พักอาศัย 76% ตามด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี 73% และช่องทางพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 50%
“จากผลงานวิจัยของเราจะเห็นได้ว่า การมาของเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์นั้นมีแนวโน้มว่าจะขยายวงกว้างสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ถึงแม้ว่าอี-พาวเวอร์จะเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจมองหารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานกลับรู้สึกว่าเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ของนิสสันนั้นน่าสนใจ รวมถึงยังให้ความสนใจที่จะซื้อรถยนต์นิสสันอี-พาวเวอร์ ภายหลังจากที่ได้รับฟังถึงระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีความแตกต่าง และเข้าใจถึงฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ ของเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ของนิสสัน” วิเวก ไวเดีย พันธมิตรทางธุรกิจ รองประธานอาวุโส ฝ่ายนวัตกรรมการขับเคลื่อนอัจฉริยะ บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน เอเชียแปซิฟิก กล่าว
ขอขอบคุณ :https://inews.bangkokbiznews.com/read/420312