ในช่วงเวลาการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่รุนแรง ทำให้เกิด New Normal หรือพฤติกรรมใหม่ของสังคมขึ้น ผู้คนต่างปรับตัวเพื่ออยู่รอด หนึ่งในการปรับตัวนั้นคือเรื่องของ “เทคโนโลยี” โลกดิจิทัลที่ไร้พรมแดน และไร้การสัมผัส ที่ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญและกำลังจับตามองโลกของเทคโนโลยีมากขึ้น
ช่วง Social Distancing ที่ผ่านมา ผู้คนต้องห่างไกลกัน และมีเพียงแค่โลกของดิจิทัลเท่านั้น ที่จะเชื่อมต่อผู้คนได้ แม้เทคโนโลยีจะเกิดขึ้นมานาน แต่เมื่อสังคมต้องไร้การสัมผัส เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาจนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น จึงถูกให้ความสำคัญ หรือเป็นสิ่งที่จำเป็นของคนในสังคม และ “แอปพลิเคชัน” คืออีกหนึ่งการเชื่อมต่อบนสมาร์ทโฟนที่สะดวกในการใช้งาน ช่วยให้ชีวิตประจำวันที่ต้องอยู่บ้านสะดวกมากขึ้น ในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา ทำให้ 6 ประเภท แอปพลิเคชัน นี้ มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด หรือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ แอปพลิเคชัน เหล่านี้แจ้งเกิดกันเลยทีเดียว จะมี แอปพลิเคชัน ประเภทไหนบ้าง ลองมาดูกัน
1. Apps ประชุมออนไลน์
ถือเป็นแอพฯอันดับหนึ่ง ที่ผู้คนให้ความสนใจมาก สำหรับผู้ที่ต้องทำงานในรูปแบบ Work from home ช่วง Social Distancing เช่น Zoom, Google Meet, Microsoft Team , LINE , FaceTime, Skype
เมื่อสังคมต้องห่างไกล การประชุมงาน หรือการเรียนการสอน ต้องปรับตัว เทคโนโลยีที่อยู่คู่กับสังคมมานาน คือแพลตฟอร์ม “Video Conference” แม้เราจะอยู่ที่ไหนบนโลก ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้ และ New Normal ที่ผ่านมา หลายองค์กรก็เร่งพัฒนาให้เทคโนโลยีสามารถรองรับการใช้งานของพฤติกรรมของสังคมมากขึ้น สามารถบันทึกวิดีโอตลอดการประชุมได้ แชทหากันได้เพื่อการสื่อสารที่ดีขึ้น สามารถ Screen Share ให้เพื่อนเห็นหน้าจอคอมของเราได้ แปลภาษาอัตโนมัติให้ได้ สามารถวาดเขียน whiteboard ให้ดูได้แบบเรียลไทม์ กายต้องห่าง แต่เรายังสื่อสารกันได้เหมือนเดิม
2. Apps สั่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery)
ช่วง Social Distancing ที่ผ่านมา ทางการไทยได้ใช้มาตรการป้องกันโรคระบาด โดยให้ปิดกิจการธุรกิจบางประเภทชั่วคราว และธุรกิจอาหารเองก็ต้องปรับตัว เหลือเพียงแต่การสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์หรือซื้อกลับเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอร์รี่อย่าง Grab, Foodpand หรือ Lineman จึงเข้ามาช่วยและเป็นช่องทางสำคัญ ให้ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหารได้ง่ายขึ้นผ่านแอปพลิเคชัน มีร้านค้าเข้ามาร่วมสมัครมากถึง 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ ทำให้แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอร์รี่ เติบโตสูงถึงร้อยละ 150 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของคนในสังคมเลยทีเดียว ที่สถานการณ์นี้ สามารถทำให้สังคมมีพฤติกรรมในการสั่งซื้ออาหารใหม่ และยังทำให้ธุรกิจอาหารเติบโตและอยู่รอดได้ในเวลาวิกฤต
3. Apps ธนาคาร (Internet Banking)
เป็นเรื่องดีของประเทศไทยเอง ที่ธนาคารเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างมาก ซึ่ง Mobile Banking นั้น แม้จะถูกพัฒนามาแล้วก่อนเกิดวิกฤต Covid-19 แต่เมื่อสังคมต้องไร้การสัมผัส แล้วนั้น การทำธุรกรรมได้ผ่านมือถือหรือเชื่อมต่อง่ายได้บนออนไลน์ (Mobile Payment) จึงถูกให้ความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ทางเลือกใหม่ที่จ่ายเงินง่าย ถอนเงินสะดวก แต่ลดความเสี่ยงของโรคระบาด เพราะผู้ใช้งานไม่ต้องสัมผัสกับตู้ธนาคารโดยตรง ไม่ต้องเข้าไปธนาคารเพื่อรอคิวร่วมกับผู้อื่น หรือสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน มากกว่านั้น ยังตอบโจทย์ในเรื่องของสังคมไร้เงินสดอีกด้วย ไม่ต้องพกเงินติดตัว มีเพียงแค่โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายทุกวัน
4. Apps ความบันเทิง
หากต้องอยู่บ้าน นอกจากงานที่ต้องรับผิดชอบแล้ว แน่นอนว่าต้องเป็นความบันเทิง ที่เข้ามาช่วยเยียวจิตใจใครหลายคน แอปพลิเคชันดี ๆ ที่คอยให้ความบันเทิงเรามานานอย่าง Netflix, Youtube, Line TV, Viu, Spotify หรือ Joox กลับมาเป็นแอปพลิเคชันโปรดของเราขึ้นมาทันที ซึ่งแม้บางแอปพลิเคชันก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูเฉลี่ย 100 – 300 บาทต่อเดือน แต่ผู้บริโภคกลับยอมเสียเงินในส่วนนั้นเพื่อแลกกับความบันเทิงที่จะได้มา มากกว่านั้น ธุรกิจสมาร์ททีวี ก็มีการเปิดเผยสถิติการใช้งานสมาร์ททีวีผ่าน Sony Thailand ว่าปัจจุบันทีวีขนาด 55” ขึ้นไป มีความนิยมและเติบโตมากขึ้นถึง 30% และผู้ใช้งานคาดหวังสมาร์ททีวีที่เชื่อมต่อ Netflix และ Youtube ได้เพิ่มขึ้นอีก 17% ซึ่งเป็นการเติบโตที่น่าสนใจมาก ที่คนไทยเอง นอกจากความบันเทิงเพื่อเยียวยาจิตใจแล้ว ยังส่งผลให้มีความต้องการเรื่องสมาร์ททีวีมากขึ้นเพื่อความสะดวกสบายอีกด้วย
5. Apps อีคอมเมิร์ซ
แอปพลิเคชันที่หลายคนต้องนึกถึงเป็นสิ่งแรก คือการสั่งซื้อของทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce หรือที่หลายคนรู้จักในนาม Lazada หรือ Shopee ที่มีการเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 35% เพราะผู้บริโภคเองก็ไม่มีทางเลือกที่จะออกไปเสี่ยงกับโรคระบาดภายนอก จึงเลือกที่จะสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์แทน และ E-commerce ก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพราะลูกค้าไม่ต้องมานั่งถาม-ตอบกับแม่ค้า แค่เข้าแอปพลิเคชันก็สามารถซื้อขายได้แล้ว โดยสินค้าที่นิยมมากที่สุดคือสินค้าประเภท สุขภาพ ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่คิดเป็น 68% ของสินค้าทุกประเภท เป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคที่กลายเป็นอีก New Normal ของใครหลายคน และเป็นอีกทางรอดของหลายธุรกิจปัจจุบัน
6. Apps ขนส่ง
ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตมากขึ้น เมื่อธุรกิจการสั่งซื้อออนไลน์เติบโต มีแม่ค้าหลายรายที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของขนส่ง เพื่อความสะดวกในการติดตามสถานะ หรือความสะดวกในการชำระเงิน แต่ภาพของบุรุษไปรษณีย์เมื่อก่อนคงเปลี่ยนไปมาก เพราะปัจจุบันมีธุรกิจขนส่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก เช่น Kerry Express, J&T Express, DHL Express แม้ไปรษณีย์ไทยจะเปิดมานาน แต่น้องใหม่อย่าง Kerry ก็สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ได้ ด้วยเวลาเพียง 6 ปี และแซงหน้าธุรกิจอื่นที่เปิดมานานอย่าง DHL Express หรือ CJ Logistics ที่เป็นอันดับ 3 และ 4 ไป โดยมีสถิติการขนส่งพัสดุช่วงก่อน Covid-19 อยู่ที่ 12 ล้านชิ้นต่อวัน แต่หลังจากช่วงวิกฤตนั้น มีการเพิ่มมากขึ้นถึง 20 ล้านชิ้นต่อวัน มากกว่านั้น ในการแข่งขัน มีการทุบราคาค่าส่ง เพิ่มความเร็ว และขยายเวลาให้บริการ จนกลายเป็นสงครามธุรกิจที่น่าจับตามอง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นการเติบโตที่พุ่งทะยานของธุรกิจประเภทนี้
แม้ช่วงสถานการณ์วิกฤต จะมีข่าวร้ายให้เราได้ยินมากมาย แต่ในการปรับตัวเพื่ออยู่รอดนั้น ยังมีหลายฝ่ายที่พร้อมเข้ามาช่วยให้สังคมไทยใช้ชีวิตต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีด้านแอปพลิเคชัน ที่ตอบโจทย์การใช้งานง่ายบนโทรศัพท์มือถือ แต่เรายังคงต้องจับตามองต่อไป ว่าจะมีการพัฒนาระบบ AI หรือแอปพลิเคชันอะไรใหม่ ๆ ให้เราได้สะดวกสบายมากขึ้น หรือช่วยให้ธุรกิจไทยอยู่รอดต่อไปได้อีกบ้าง ต้องติดตามต่อไป
บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ IT ครบวงจร ในลักษณะ IT Solution ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี และเรายังคงเชื่อมั่นต่อไป ว่าเราจะสามารถสร้างพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น