สุดยอดเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อน Metaverse
ในปี 2022 นี้ ถ้าพูดถึงคำว่า Metaverse น่าจะกลายเป็นคำคุ้นหูของนักธุรกิจและนักการตลาดไปแล้ว โดยกระแสของโลกใหม่นี้รุนแรงขึ้นขั้นที่ Facebook เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เลยทีเดียว โดยทาง Meta ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ Metaverse ว่ามันคือการเชื่อมต่อกันระหว่างโลกที่เราอยู่ ณ ปัจจุบัน กับโลกเสมือน ผ่านตัวตนแบบดิจิทัลที่เรียกว่า อวาตาร์ (Avatars) ที่มีเทคโนโลยี AR และ VR เข้ามามีส่วนสร้างโลก 3 มิติ ซึ่งจะเป็นยุคใหม่ของการสื่อสารระหว่างผู้คน
ขอบคุณภาพจาก Meta
แน่นอนว่าบริษัท Meta นั้นไม่ได้เป็นผู้คิดค้น Metaverse เป็นเจ้าแรก เพราะแนวคิดเรื่อง Metaverse มีมาตั้งแต่ปี 1992 ในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Snow Crash โดย Neal Stephenson ซึ่งได้เขียนถึงโลกออนไลน์ที่ผู้คนใช้อวาตาร์เพื่อสำรวจและหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง จวบจนหลายทศวรรษต่อมา บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จึงได้เริ่มสร้าง Metaverse แห่งอนาคตในเวอร์ชั่นของตนเอง
แท้ที่จริงแล้ว Metaverse คืออะไร? และบริษัทยักษ์ใหญ่จะเข้าใกล้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างไร? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ
Metaverse คืออะไร?
“Metaverse” หรือในภาษาไทยเรียกกันว่า “จักรวาลนฤมิต” เป็นแนวคิดของโลกดิจิทัล 3 มิติ ที่มีพื้นที่และวัตถุเสมือนจริง ถ้ายังไม่ค่อยเข้าใจ… อยากให้คุณลองนึกภาพว่าคุณกำลังไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ผ่านอวาตาร์ในร้านกาแฟเสมือนจริง หรือเยี่ยมชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง หรือเข้ารวมชมคอนเสิร์ตวงดนตรีเคป๊อบในคอนเสิร์ตเสมือนจริง โดยทั้งหมดที่กว่ามานี้สามารถทำได้ในบ้านของคุณเอง
บริษัทเกมบนโลกบล็อกเชนอย่าง Axie Infinity, The Sandbox, Decentraland ได้เลือกบางส่วนของ Metaverse นำมาผนวกกับปัจจัยอันหลากหลายในชีวิตเราเข้าสู่โลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม Metaverse ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ไม่มีใครรู้ว่าจะมี Metaverse ที่รวบรวมทุกอย่างไว้เพียงโลกเดียว หรือ Metaverse หลายโลกที่คุณสามารถท่องเที่ยวได้
ขณะที่แนวคิดยังคงพัฒนาต่อไป โดยคาดว่าจะมีการพัฒนาไปนอกเหนือจากวิดีโอเกมและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ Metaverse ยังมีคุณสมบัติที่รองรับ Remote working, Decentralized Governance และ Digital Identity นอกจากนี้ยังมีการทำงานแบบหลายมิติเมื่อใช้งานผ่านชุดหูฟังและแว่นตา VR เพื่อให้ผู้ใช้เดินไปรอบ ๆ เพื่อสำรวจพื้นที่ 3 มิตินี้ได้จริง
ขอบคุณรูปจาก The Sandbox
การพัฒนาล่าสุดของ Metaverse
เมื่อ Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta ในเดือนตุลาคม 2021 คำว่า Metaverse ได้กลายเป็น Buzzword ที่ยอดฮิต เพื่อรองรับการรีแบรนด์โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Meta จึงได้ทุ่มทรัพยากรให้กับแผนกใหม่ Reality Labs ที่มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๆ สามแสนล้านบาท) ในปี 2564 แนวคิดคือการพัฒนา Metaverse ทั้งเนื้อหา ซอฟต์แวร์ ตลอดจนชุดหูฟัง AR และ VR โดย Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งและ CEO Meta เชื่อว่า Metaverse จะแพร่หลายเหมือนกับสมาร์ตโฟนในอนาคต
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 เป็นตัวเร่งผู้คนมีความสนใจในการพัฒนา Metaverses เนื่องจากมีผู้คนเริ่มทำงานจากระยะไกลมากขึ้น ผู้คนจึงมีความต้องการโต้ตอบกับผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างพื้นที่ 3 มิติเสมือนจริงที่อนุญาตให้เพื่อนร่วมงานเข้าร่วมการประชุม การติดตามงาน และการทำงานร่วมกันกำลังเพิ่มขึ้น Microsoft Mesh ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้นำเสนอตัวอย่างฟีเจอร์ Immersive Spaces พื้นที่เสมือนจริงสำหรับผู้ใช้ในการพบปะและทำงานร่วมกันโดยใช้อวาตาร์ ทำให้การประชุมทีมทางไกลมีส่วนร่วมและสนุกสนานมากขึ้น
ขอบคุณภาพจาก Microsoft Mesh
เกมออนไลน์บางเกมพร้อมเปิดรับ Metaverse แล้วเช่นกัน อย่าง Pokémon Go เกมมือถือ AR ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมยุคแรก ๆ ที่เข้าถึงแนวคิดนี้ โดยให้ผู้เล่นตามล่าโปเกมอนในโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการใช้แอปสมาร์ตโฟน อย่าง Fortnite ก็เป็นเกมยอดนิยมอีกเกมหนึ่งได้ขยายผลิตภัณฑ์ไปยังกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกดิจิทัล รวมถึงการจัดอีเวนท์ของแบรนด์และคอนเสิร์ต
นอกเหนือจากโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มเกมแล้ว บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Nvidia ก็ได้เปิดโอกาสใหม่ในโลกเสมือนจริงด้วยเช่นกัน โดย Nvidia Omniverse เป็น Open Platform ที่ออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ 3D เข้ากับ Shared universe เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกร นักออกแบบ และผู้สร้างโดยภาพเสมือนจริง ปัจจุบันมีการใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น BMW Group ใช้ Omniverse เพื่อลดเวลาในการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยการผลิตอันชาญฉลาด
ขอบคุณภาพจาก Nvidia Omniverse
เทคโนโลยีหลักที่ขับเคลื่อน metaverse
เพื่อเพิ่มความประทับใจให้กับผู้ใช้ Metaverse บริษัทต่าง ๆ จึงหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น บล็อคเชน และ คริปโตเคอร์เรนซี, Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR), การสร้าง 3D, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) เพื่อขับเคลื่อน โลกเสมือนจริง
บล็อคเชน และ คริปโตเคอร์เรนซี
เทคโนโลยีบล็อกเชน ได้มอบทางออกให้กับการกระจายศูยน์อำนาจและความโปร่งใส ที่ข้อมูลดิจิทัลทั้งหมดสามรถตรวจสอบได้ทั้ง ความเป็นเจ้าของ, การสะสมดิจิทัล, การถ่ายโอนมูลค่า, การกำกับดูแล, ความสามารถการเข้าถึงได้, และความสามารถในการทำงานร่วมกันกับ คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถถ่ายโอนมูลค่าในขณะที่ทำงานหรือเข้าสังคมในโลกดิจิทัล 3 มิติ
คริปโต สามารถซื้อที่ดินเสมือนจริงใน Decentraland ได้ โดยผู้เล่นสามารถซื้อที่ดินขนาด 16×16 เมตร ในรูปแบบของ NFT ได้ด้วยสกุลเงินดิจิทัล MANA ของเกมนี้ ด้วยการสนับสนุนของเทคโนโลยีบล็อกเชน เจ้าของที่ดินเสมือนจริงสามารถสร้างอะไรก็ได้บนที่ดิน ทั้งยังมีความปลอดภัยอีกด้วย
ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า คริปโต สามารถจูงใจให้ผู้คนทำงานใน Metaverse ได้จริง เนื่องจากบริษัทจำนวนมากทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เราอาจได้พบการเสนองานที่เกี่ยวกับ Metaverse ก็เป็นได้
Augmented reality (AR) และ virtual reality (VR)
Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ได้มอบประสบการณ์ 3 มิติเสมือนจริงที่แสนเพลิดเพลิน นี่เป็นจุดเริ่มต้นสู่โลกเสมือนจริงของเรา แต่อะไรคือความแตกต่างระหว่าง AR และ VR กันล่ะ?
AR ใช้องค์ประกอบภาพดิจิทัลและคาแรคเตอร์ เพื่อปรับให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเทคโนโลยีนี้เข้าถึงได้ง่ายกว่า VR และใช้ได้กับสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์ที่มีกล้องเกือบทุกชนิด ผ่านแอปพลิเคชั่น AR ผู้ใช้สามารถดูสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวไปพร้อมกับ Interactive digital visuals เหมือนกับในเกมมือถือ Pokémon GO เมื่อผู้เล่นเปิดกล้องบนโทรศัพท์แล้วจะเห็นโปเกมอนในโลกแห่งความจริง
ขอบคุณภาพจาก Pokémon GO Thailand
ส่วน VR ทำงานแตกต่างกันกับ AR แต่มีคอนเซ็ปต์เดียวกับ Metaverse คือการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด จากนั้นผู้ใช้จะสามารถสำรวจพื้นที่ได้โดยใช้ชุดหูฟัง ถุงมือ และเซนเซอร์
วิธีการทำงานของ AR และ VR ทำให้เห็น Metaverse รุ่นต้นแบบ ที่ AR จะสร้างโลกดิจิทัลที่รวมเนื้อหาภาพที่สมมติขึ้น เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาจนเข้าที่แล้ว VR จะเข้าพัฒนาต่อ ให้การใช้ Metaverse สอดคล้องกับการจำลองทางกายภาพด้วยอุปกรณ์ VR ผู้ใช้จะสามารถสัมผัส ได้ยิน และโต้ตอบกับผู้คนจากส่วนอื่น ๆ ของโลกได้ ทั้งนี้เราสามารถคาดหวังให้บริษัทผู้สร้าง Metaverse ลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์ AR และ VR ในอนาคตอันใกล้นี้
ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ปัญญาประดิษฐ์ หรือเรียกกันว่า AI ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตของเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่อง การวางแผนกลยุทธ์ การตัดสินใจ การจดจำใบหน้า การคำนวณที่เร็วขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมายที่ AI สามารถทำได้ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ AI ไปใช้สร้าง Metaverses ที่สมจริง
AI มีศักยภาพในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากด้วยความเร็วสูง เมื่อรวมกับเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง อัลกอริทึม AI จะสามารถเรียนรู้จากการทำซ้ำครั้งก่อน โดยคำนึงถึงข้อมูลเก่า เพื่อสร้างผลลัพธ์และข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เหมือนใคร
ใน Metaverse AI สามารถใช้กับตัวละครที่ไม่ใช่ผู้เล่น (NPC) ในสถานการณ์ต่าง ๆ NPC มีอยู่ในเกือบทุกเกม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกมที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองและตอบโต้กับผู้เล่น ด้วยความสามารถในการประมวลผลของ AI ทำให้สามารถวาง NPC ข้ามพื้นที่ 3 มิติได้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการสนทนาที่เหมือนจริงกับผู้ใช้ หรือทำงานอื่น ๆ ต่างจากผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์ โดย AI NPC สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองและใช้งานพร้อมกันโดยผู้เล่นหลายล้านคนได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำงานได้หลากหลายภาษา
การประยุกต์ที่เป็นไปได้อีกอย่างก็คือการสร้างอวาตาร์ โดย AI Engine สามารถใช้วิเคราะห์ภาพ 2 มิติ หรือสแกนภาพ 3 มิติ สร้างอวาตาร์ที่ดูสมจริงและแม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อทำให้กระบวนการมีไดนามิกมากขึ้น AI ยังสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างการแสดงออกทางสีหน้า ทรงผม เสื้อผ้า และคุณลักษณะต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอวาตาร์ที่เราสร้างขึ้น
3D Reconstruction
แม้ว่านี่ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่การใช้การสร้างภาพ 3D ขึ้นใหม่ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่นั้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้ผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้ซื้อไม่สามารถเยี่ยมชมอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นบางบริษัทจึงนำเทคโนโลยีการสร้างภาพ 3D เพื่อสร้างสถานที่เสมือนจริงให้ได้เยี่ยมชม ผู้ซื้อสามารถมองไปรอบๆ บ้านใหม่ได้จากทุกที่และซื้อได้เลยโดยไม่ต้องเข้าไปดูบ้านตัวอย่าง
หนึ่งในความท้าทายสำหรับ Metaverse คือการสร้างโลกดิจิทัลที่ใกล้เคียงกับโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด เทคโนโลยีการสร้างภาพ 3D มันสามารถสร้างพื้นที่ที่เหมือนจริงและดูเป็นธรรมชาติได้ด้วยกล้อง 3D แบบพิเศษ เราสามารถนำโลกของเราไปสู่โลกออนไลน์ได้ โดยการแสดงแบบจำลองอาคาร 3D ที่แม่นยำ จากนั้นข้อมูลพื้นที่แบบ 3D และการถ่ายภาพ 4K HD จะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อประมวลผลและสร้างแบบจำลองเสมือนใน Metaverse เพื่อให้ผู้ใช้ได้สัมผัสแบบจำลองดิจิทัล ที่เรียกได้ว่าเหมือนของจริงอย่างกับแกะ
Internet of things (IoT)
แนวคิดของ Internet of Things (IoT) เปิดตัวครั้งแรกในปี 2542 พูดก็คือ IoT เป็นระบบที่นำทุกสิ่งบนโลกของเรามาเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านเซนเซอร์และอุปกรณ์ หลังจากเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อุปกรณ์เหล่านี้จะมีตัวระบุเฉพาะและความสามารถในการส่งหรือรับข้อมูลโดยอัตโนมัติ ทุกวันนี้ IoT เชื่อมต่อกับลำโพงสั่งงานด้วยเสียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ อีกมากมายเข้ากับข้อมูลที่หลากหลาย
หนึ่งในการประยุกต์ใช้ของ IoT บน Metaverse คือการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลของโลกความเป็นจริง สิ่งนี้จะเพิ่มความแม่นยำของการแสดงข้อมูลดิจิทัล เช่น ข้อมูลที่ป้อนให้ IoT สามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานของวัตถุบางอย่างใน Metaverse โดยวิธีการทำงานจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ
การใช้ IoT สามารถเชื่อมต่อโลก 3D กับอุปกรณ์ในชีวิตจริงเป็นจำนวนมากได้อย่างราบรื่น สิ่งนี้ทำให้สร้างการจำลองแบบเรียลไทม์ใน Metaverse เพื่อเพิ่มความสมจริงใน Metaverse ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น IoT ยังสามารถใช้ AI และ Machine Learning เพื่อจัดการกับข้อมูลที่รวบรวมมาได้
ความท้าทายของ Metaverse
Metaverse ยังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ยังมีความท้าทายอีกหลากหลายอย่าง เช่น การตรวจสอบตัวตนและการรักษาความเป็นส่วนตัว เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง การระบุตัวบุคคลไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในขณะที่ผู้คนท่องโลกดิจิทัลในรูปอวาตาร์ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกหรือพิสูจน์ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร เช่น ผู้คุกคาม (Malicious actors) หรือแม้แต่บอทสามารถเข้าสู่ Metaverse แล้วแอบอ้างเป็นคนอื่นได้ ซึ่งสามารถใช้สิ่งนี้เพื่อสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือหลอกลวงผู้ใช้รายอื่น
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือความเป็นส่วนตัว Metaverse อาศัยอุปกรณ์ AR และ VR เพื่อมอบประสบการณ์ที่สมจริงให้กับผู้ใช้ ดังนั้นเทคโนโลยีเหล่านี้จึงมาพร้อมกับ กล้องสุดล้ำ และ Unique Identifiers ซึ่งอาจนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ในที่สุด
สรุป
ในขณะที่ Metaverse ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา หลายบริษัทเองก็กำลังค้นหาศักยภาพในตัวของมัน ในโลกคริปโต Decentraland และ The Sandbox ถือว่าเป็นโครงการที่โดดเด่น แต่บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Microsoft, Meta และ Nvidia ก็มีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน เหล่าเทคโนโลยี AR, VR และ AI ได้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เราอาจจะเห็นคุณสมบัติใหม่ที่น่าตื่นเต้นในโลกเสมือนจริงที่ไร้พรมแดนเหล่านี้ ส่วนครั้งหน้าสกายจะนำเทคโนโลยีอะไรมานำเสนออีก ต้องติดตามครับ
ขอบคุณที่มา : Binance Academy