VR Therapy ทางเลือกยุคดิจิทัล ช่วยบำบัดรักษาโรค
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เตรียมใช้ระบบ “VR Therapy – เป็นทางเลือกช่วยรักษาผู้ป่วยทางจิต นำร่อง 3 โรค นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ออนไลน์ ถึงแนวทางการใช้ Virtual reality therapy (VR Therapy) เพื่อระบบบริการทางสุขภาพจิต ซึ่งเบื้องต้นจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชใน 3 กลุ่มโรคสำคัญ คือ
1.โรคกังวล (Anxiety) อาการของผู้ป่วยจะตกอยู่ภาวะกังวลและความเครียดรุนแรงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีปัญหา ในการนอนหลับและมีอาการหลงลืม ความเครียดชนิดนี้ยังสามารถส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายเช่นความเหนื่อยล้า และกล้ามเนื้อบีบตัวตึง ได้อีกด้วย
2.โรคกลัว (Phobia) เช่น กลัวเลือด กลัวแมงมุม กลัวที่แคบ กลัวการพูดในที่สาธารณะ หรือในกลุ่มจิตเวชเด็กเช่น กลัวการไปโรงเรียน (school refusal) หรือกลัวการเข้าสังคม
3.กลุ่มโรคภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง Post-traumatic stress disorder (PTSD) โดยก่อนหน้านี้เริ่มนำระบบดังกล่าวมาทดลองใช้ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงหยุดการพัฒนาไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับมาพัฒนาต่อ
ปกติการรักษาโรคกลัว (Phobia) จะใช้จิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดโดยนักจิตวิทยา โดยให้จินตนาการว่า คนไข้กำลังอยู่บนเวทีจากนั้นมีคนปรบมือ และมีคนดูเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มระดับความรุนแรง เช่น จากการคิด จากนั้นดูภาพจริง ไปสถานที่มีคนน้อยและไปสถานที่ที่มีคนมาก
ทั้งนี้ การเลือกใช้ ระบบ VR Therapy ซื้แบบอโปรแกรมที่จากต่างชาติ ราคาค่อนข้างสูงถึงหลักหลายล้าน ทั้งนี้โปรแกรม VR Therapy ของสถาบันฯ จะถูกเขียนโดยนักพัฒนาชาวไทย ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้งบประมาณได้หลายเท่า โดยเทคโนโลยี VR ปัจจุบันที่พัฒนาได้เองราคาไม่ได้สูงมากนัก เช่น แว่น VR ราคาก็ถูกลงอยู่ที่ 1-2 หมื่นบาท
ในต่างประเทศมีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าใช้ในการบำบัดไม่ต่างจากกระบวนการปกติรวมถึงยังมี VR Therapy จำลองการช่วยให้ผ่อนคลาย ( Relaxation) เช่นการทำสมาธิ หรือ การฝึกหายใจโดยจะมีการจำลองสภาพแวดล้อมเช่น ป่า ทะเล เพื่อช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการรักษาโดยไม่มีผู้บำบัด โดยหากมีกล้อง VR ที่บ้านก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมไปใช้งานได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะเขียนโปรแกรมเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะนี้เตรียมกระบวนการและเตรียมนักจิตวิทยาไว้พร้อมแล้ว เมื่อโปรแกรมเสร็จสิ้นทั้งหมดก็จะเริ่มทดลองใช้ที่สถาบันฯ ผ่านระบบการรักษาจริง และเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีต่อไปในอนาคต
ที่มาของข้อมูล
www.thaipbs.or.th